วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

จรรยาบรรณวิศวกร

สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์



จรรยาบรรณ ข้อ 1
“วิศวกรต้องรับผิดชอบ และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
ต่อสวัสดิภาพ สุขภาพ ความปลอดภัยของสาธารณชน 
และสิ่งแวดล้อม”


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) หลีกเลี่ยงไม่รับงานที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม และความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ ของผู้ว่าจ้างกับผลประโยชน์ของสาธารณชน
(2) ทำงานให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมที่เป็นที่ยอมรับโดยให้ระมัดระวังในเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของชีวิต และสุขภาพของคนงาน และสาธารณชน รวมถึงทรัพย์สินซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน
(3) พยายามป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่สาธารณชน โดยการแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงสถานการณ์อันอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่สาธารณชนขึ้นได้
(4) ขจัดการเผยแพร่ข่าวสารอันเป็นเท็จ หรือข่าวสารที่ขยายเกินความจริง หรือไม่ยุติธรรม
(5) มีส่วนร่วมในการอภิปรายในที่สาธารณะ เกี่ยวกับเรื่องทางวิศวกรรมในขอบเขตที่ตนเชี่ยวชาญ ทั้งนี้โดยพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำเช่นนี้จะเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของสาธารณชน


จรรยาบรรณ ข้อ 2
“วิศวกรต้องให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นตามหลักวิชาการ
ตามที่ตนทราบอย่างถ่องแท้แก่สาธารณชนด้วยความสัตย์จริง”

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) แถลงถึงความคิดเห็นทางวิศวกรรมต่อสาธารณชน เฉพาะเมื่อตนได้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่แถลงนั้นอย่างถ่องแท้แล้ว

(2) ผู้ที่เป็นพยานในศาลต้องให้ถ้อยคำต่อศาลด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และเฉพาะที่ได้รู้ชัดแจ้งเท่านั้น แต่จรรยาบรรณข้อนี้ไม่ได้ห้ามการตอบข้อซักถามที่ต้องใช้การคาดคะเนและพินิจพิจารณาโดยอาศัยความรู้ และประสบการณ์ของตนเอง และความรู้ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง
(3) เปิดเผยถึงผลประโยชน์ใดๆ ที่ตนเกี่ยวข้อง ที่อาจจะมีผลกระทบต่อดุลยพินิจของตนในเรื่องทางเทคนิคที่ตนกำลังแถลง หรือประจักษ์พยานอยู่



จรรยาบรรณ ข้อ 3
“วิศวกรต้องดำรงและส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริต เกียรติยศ และศักดิ์ศรีของวิชาชีพวิศวกรรม”

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) ปฏิบัติงานที่ได้รับทำ อย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวิชาการของวิชาชีพ โดยเคร่งครัด
(2) ประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช้วิชาชีพในทางที่ผิดกฎหมาย
(3) หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพวิศวกรรม
(4) ไม่โฆษณาผลงานของตนเองในลักษณะที่เป็นการโอ้อวด
(5) ไม่พัวพันเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือประกอบการใดๆ ซึ่งตนรู้อยู่ว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่สุจริต
(6) ไม่อาศัยการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่นๆ หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อปกปิดการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณ
(7) ไม่ประกอบวิชาชีพร่วมกับวิศวกรที่ปฏิบัติตนผิดจรรยาบรรณ และต้องรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพบว่ามีวิศวกรกระทำผิดจรรยาบรรณ


จรรยาบรรณ ข้อ 4
“วิศวกรต้องปฏิบัติงานเฉพาะที่ตนมีความรู้ความสามารถเท่านั้น”


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) ไม่ประกอบอาชีพวิศวกรรมเกินความรู้ความสามารถที่ตนเองจะทำได้

(2) ในกรณีที่งานที่ได้รับมอบหมายมานั้น ต้องการความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์อย่างอื่น นอกเหนือจากที่ตนเชี่ยวชาญ วิศวกรต้องแจ้งให้ผู้ว่าจ้าง หรือลูกค้าของตนทราบอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งแนะนำให้รู้จักผู้ที่เหมาะสมกับงานนั้น


จรรยาบรรณ ข้อ 5
“วิศวกรต้องสร้างชื่อเสียงในวิชาชีพจากคุณค่าของงาน และต้องไม่แข่งขันกันอย่างไม่ยุติธรรม”



เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) ไม่ใช้ข้อได้เปรียบหรือตำแหน่งอันมีอภิสิทธิ์ ไปแย่งงานจากผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมคนอื่นๆ
(2) ไม่แอบอ้างผลงานของวิศวกรผู้อื่นมาเป็นของตน โดยยึดหลักไว้เสมอว่างานใดที่วิศวกรผู้ใดผู้หนึ่งทำไว้จะต้องให้เกียรติถือว่าเป็นผลงานของวิศวกรผู้นั้น
(3) ไม่กระทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียง ความก้าวหน้า หรือการปฏิบัติวิชาชีพของวิศวกรอื่น
(4) ไม่ปลอมแปลงและไม่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเกี่ยวกับคุณสมบัติ ประสบการณ์ หรือภาระความรับผิดชอบที่ผ่านมาของตน
(5) ไม่รับทำงานหรือตรวจสอบงานชิ้นเดียวกันกับผู้ประกอบอาชพวิศวกรรมคนอื่นทำอยู่แล้ว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ หรือได้แจ้งให้ผู้ประกอบการวิชาชีพวิศวกรรมนั้นทราบล่วงหน้าแล้ว
(6) ไม่รากแซงงานของวิศวกรอื่น เมื่อทราบว่างานนั้นมีวิศวกรอื่นทำงานนั้นอยู่แล้ว ยกเว้นเมื่อผู้ว่าจ้างได้บแกเลิกการจ้างกับวิศวกรผู้นั้นเป็นลายลักษณ์อักษรเรียบร้อยแล้ว
(7) ไม่แข่งขันกับวิศวกรอื่นด้วยการตัดราคาค่าจ้างของตนให้ต่ำกว่า โดยเฉพาะเมื่อทราบอัตราค่าจ้างของผู้นั้นแล้ว
(8) ไม่ใช้อิทธิพลใดๆ ในการแข่งขันกับวิศวกรอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งงานนั้น
(9) ไม่เสนอสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อให้ได้งานมาทำ
(10) ไม่วิพากษ์วิจารณ์งานของวิศวกรอื่นต่อสาธารณะ เว้นแต่จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่
(11) พึงรับงานจากผู้ว่าจ้าง หรือลูกค้า โดยคำนึงถึงความเป็นอิสระเชิงวิชาชีพเป็นสำคัญ



จรรยาบรรณ ข้อ 6
“วิศวกรต้องรับผิดชอบต่องานและผลงานในวิชาชีพของตน”


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) คำนึงอยู่เสมอว่างานทุกอย่างที่ทำไปนั้น ตนต้องรับผิดชอบตลอดอายุการใช้งานตามวัตถุประสงค์การใช้งานเดิม
(2) คำนึงอยู่เสมอว่าผลงานที่ตนจะต้องรับผิดชอบนั้น อาจจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และสิ่งที่คาดไม่ถึงในอนาคต
(3) ติดตามผลงานจากการออกแบบ หรือการให้คำปรึกษาของตน ตลอดระยะเวลาที่ผลงานั้นยังมีการใช้งานอยู่ หากทราบว่ามีข้อบกพร่องใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ว่าจ้าง หรือลูกค้า หรือแก่สาธารณชน วิศวกรต้องเร่งรัดจัดการเพื่อให้มีการแก้ไข โดยไม่ต้องให้เจ้าของงานทักท้วงก่อน


จรรยาบรรณ ข้อ 7
“วิศวกรต้องใช้ความรู้และความชำนาญในงานวิชาชีพอย่างซื่อตรง เพื่อผลประโยชน์ของผู้ว่าจ้างหรือลูกค้า ซึ่งตนปฏิบัติงานให้เสมือนเป็นตัวแทนที่ซื่อตรงหรือเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ”


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) ซื่อตรงต่อผู้ว่าจ้างหรือลูกค้า เมื่อปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ตนเป็นตัวแทนหรือผู้ได้รับความไว้วางใจจากบุคคลเหล่านั้น
(2) แสดงสถานะของตนให้ผู้ว่าจ้างทราบก่อนที่จะรับดำเนินการ ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งให้ตัดสินงานหรือสิ่งอื่นที่ตนอาจจะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ด้วย
(3) รับผิดชอบในความเพียงพอทางเทคนิคของงานวิศวกรรม โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากผู้มีอำนาจเหนือกว่ามีความเห็นเป็นอย่างอื่น
(4) ไม่เปิดเผยความลับของงานที่ตนรับทำ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง
(5) ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในฐานะเป็นผู้รับเหมาหรือร่วมทุน ในการประกวดราคางานซึ่งตนเป็นวิศวกรผู้รับผิดชอบ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้าง

(6) ไม่รับค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งอื่นใด จากผู้ว่าจ้างหลายรายในการให้บริการงานชิ้นเดียวกัน นอกจากจะได้รับอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว
(7) ไม่เรียก รับ หรือยอกรับทรัพย์สิน ของกำนัล หรือผลประโยชน์ใดๆ สำหรับตนหรือพวกพ้องของตนจากผู้รับเหมา ตัวแทนของผู้รับเหมา ผู้ขายวัสดุอุปกรณ์ หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนรับผิดชอบอยู่
(8) แนะนำผู้ว่าจ้างของตนให้จ้างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้างและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
(9) ต้องเสนอผลการศึกษาโครงการตามความเป็นจริงทุกประการ โดยไม่มีการบิดเบือนใดๆ
(10) แจ้งให้ผู้ว่าจ้างของตนทราบทันทีถึงกิจกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้ส่วนเสียและอาจจะเป็นคู่แข่งหรือมีผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ว่าจ้าง และต้องไม่ยอมให้ผลประโยชน์ของธุรกิจใดๆ มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจเกี่ยวกับงานที่ตนทำอยู่


จรรยาบรรณ ข้อ 8
“วิศวกรพึงพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาชีพของตนตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
และให้ความสำคัญในการช่วยเหลือส่งเสริมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และ
ประสบการณ์ให้แก่วิศวกรในความดูแลของตนอย่างจริงจัง”


เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของจรรยาบรรณข้อนี้ วิศวกรต้อง
(1) พัฒนาตนเองในด้านความรู้และความก้าวหน้าในวิชาชีพวิศวกรรม
(2) เผยแพร่ความรู้วิชาชีพวิศวกรรม
(3) ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมวิชาชีพวิศวกรรม โดยการแลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้และประสบการณ์กับวิศวกรอื่น
(4) สนับสนุนให้ลูกจ้างหรือผู้ใต้บังคับบัญชาในงานวิชาชีพของตนได้ศึกษาต่อ
(5) สนับสนุนนิสิตนักศึกษา ในการเพิ่มพูนความรู้ด้านวิชาชีพวิศวกรรม
(6) สนับสนุนโครงการและกิจการด้านวิศวกรรมขององค์กรวิชาชีพวิศวกรรม และสถาบันการศึกษาต่างๆ









ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลจาก :
                                                               http://www.en.rmutt.ac.th

ประวัติของอาชีพวิศวกร : THE HISTORY OF PROFESSIONAL ENGINEERS


นับตั้งแต่ที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ความเป็นนักประดิษฐ์ของเราก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสมองที่ซับซ้อน การสังเกตุ และข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรารู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อการดำรงชีพ ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมโดยแท้จริง หรือกล่าวได้ว่าวิศวกรกลุ่มแรกของโลกก็ก่อเกิดมาจากจุดนี้ โดยได้มีการพัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ เช่น เครื่องมือในการล่า ที่อยู่อาศัย ศาสนสถาน ฯลฯ ซึ่งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้มารุ่นต่อรุ่น และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างมากมายจนหลายๆ ผลงานจากอดีตก็ได้กลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างที่เราได้พบเห็นกันในปัจจุบัน
อาชีพวิศวกรในสมัยเริ่มแรกนั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการทหาร กล่าวคือ เป็นงานในลักษณะของการสร้างอาวุธส่งคราม เช่น เครื่องยิงก้อนหิน ปืนใหญ่ เครื่องกระทุ้งประตูเมือง การก่อสร้างกำแพง ป้อมยาม คูเมือง เหล่านี้เป็นต้น


 ดังนั้นวิศวกรรุ่นแรกคือ วิศวกรการทหาร (Military Engineer) วิศวกรพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทหารซึ่งจะต้องเข้าร่วมรบในสงคราม แต่หน้าที่พิเศษแตกต่างจากทหารอื่นๆ 


คือต้องทำการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาถึงสมัยที่อำนาจของเจ้าผู้ครองนครและอาณาจักรต่างๆ ถึงจุดเสื่อม การพาณิชยกรรมได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนการรบขยายอาณาเขต ประมาณ ปี ค.ศ. 1750 คือ ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงเกิดมีวิศวกรพลเรือน (Civil Engineer) ซึ่งทำงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรง เช่น การสร้างถนน ขุดคลอง เป็นต้น


 และวิศวกรเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบัน Institute of Civil Engineer (London)   ขึ้นในปี ค.ศ. 1828 ยิ่งวงการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเท่าไร ความจำเป็นที่จะต้องจำแนก


สาขาเฉพาะของวิศวกรยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อการใช้เครื่องจักร เครื่องกลมีมากขึ้น วิศวกรพลเรือนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลก็มากขึ้นไปด้วย วิศวกรพลเรือน จำนวนหนึ่งจึงแยกตนเองออกมาตั้งเป็นสาขาใหม่ คือ วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) วิศวกรเครื่องกลจะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกำเนิดพลัง (engine) เครื่องจักรแปรรูปวัสดุ และผลิตสินค้า โรงงานขนาดใหญ่และอุปกรณ์ขนย้ายวัสดุ (material handling equipment) และความหมายของ วิศวกรรมพลเรือนแต่เดิม (Civil Engineering) นั้นก็เปลี่ยนมาหมายความถึงวิศวกรรมโยธา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร ถนน คลอง ฯลฯ และยังคงใช้คำว่า Civil เหมือนเดิม


ในสมัยต่อมาเมื่อพลังงานไฟฟ้าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย วิศวกรเครื่องกลบางกลุ่มที่ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกำเนิดไฟฟ้าและระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าก็แยกสาขาออก เป็นวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) เพิ่มขึ้นมาอีกสาขาหนึ่ง 


จากสาขาหลักใหญ่ๆ 3 สาขาของวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาย่อยอื่นๆ ของวิศวกรรมศาสตร์ก็เจริญเติบโตขึ้นมา


อีกมากมาย เช่น วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) วิศวกรรมเหมืองแร่และโลหะวิทยา (Mining and Metallurgical Engineering) วิศวกรรมการเดินอากาศ (Aeronautical Engineering) วิศวกรรมการเกษตร (Agricultural Engineering) วิศวกรรมเครื่องกลเรือ (Marine Engineering) วิศวกรรมอิเลคทรอนิค (Electronic Engineering) วิศวกรรมนิวเคลียร์ (Unclear Engineering) และยังมีสาขาอื่นๆ อีกมากมายในปัจจุบัน



ขอขอบพระคุณที่มาข้อมูลจาก :
                                                    http://www.pros-concrete.com

หน่วยทางวิศวกรรมและการแปลงหน่วย (UNITS & CONVERSIONS)


หน่วยทางวิศวกรรมและการแปลงหน่วย (Units & Conversions) เมื่อพูดถึงการแปลงหน่วยบางคนก็ร้องอ๋อ… แต่บางคนถึงกับเครียดเพราะว่าไม่รู้จะแปลงอย่างไร กดเครื่องคำนวณกดแล้วกดอีกก็ยังไม่มั่นใจ (ประสบการณ์ตรง  ) นั่นก็เพราะไม่เข้าใจพื้นฐานของหน่วยนั้นๆ และพื้นฐานทางคณิตศาสตร์นั่นเอง แต่ถ้าเราลองมาทำความเข้าใจมันด้วยหลักการง่ายๆ ของเราเองเราก็จะสามารถจดจำลักษณะเด่นต่างๆของหน่วยนั้นๆ ได้ไม่ยากนัก ดังนั้นเราจะมาดูกันว่าหน่วยแต่ละหน่วยมันสามารถแปลงไปเป็นอีกหน่วยได้อย่างไร มันใช้อะไรมาคูณหรือมาหารอย่างไร โดยเราจะมาดูจากตารางการแปลงหน่วยแบบกึ่งสำเร็จรูปกันครับ
สิ่งแรกที่เราควรจะทำความรู้จักก็คือ “คำอุปสรรค” คำอุปสรรค  คือ คำที่ใช้เติมหน้าหน่วย SI   เพื่อทำให้หน่วย SI  ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงนั่นเอง มีรูปแบบดังต่อไปนี้

pico (p) = 10-12
nano (n) = 10-9
micro (μ) = 10-6
deca (da) = 101
kilo (k) = 103
mega (M) = 106
giga (G) = 109
tera (T) = 1012
peta (P) = 1015
exa (E) = 1018
zetta (Z) = 1021

ซึ่งเชื่อว่าเกือบทุกคนก็คงจะคุ้นเคยกับค่าเหล่านี้เป็นอย่างดี นั่นก็คือขนาดของไฟล์ หรือความจุของไดร์นั่นเอง (ที่หลายคนชอบดาวน์โหลดกันเป็นประจำ  ) ต่อไปเราก็มาดูการแปลงหน่วยในแต่ละหมวดกันครับ


การแปลงหน่วยของมวล (Mass)

1 kg = 2.205 lb
1 lb = 453.6 g = 16 oz
1 metric tonne = 1,000 kg = 2,205 lb
1 US short ton= 907 kg = 2,000 lb
1 UK long ton = 1,016 kg = 2,239 lb
การแปลงหน่วยของระยะทาง (Distance)
1 cm = 0.4 in
1 m = 3.281 ft = 1.094 yd
1 km = 0.62137 mi = 199 rod
1 mi = 1.609 km
1 smoot = 1.702 m = 5.83 ft
การแปลงหน่วยของพื้นที่ (Area)
1 m2 = 10.765 ft2
1 km2 = 0.386 mi2 = 106 m2
1 ha = 104 m2 = .01 km2 = 2.47 ac
1 mi2 = 2.6 km2 = 640 ac
1 ac = 4,047 m2 = 43,560 ft2
การแปลงหน่วยของปริมาตร (Volume)
1 L = 0.264 gal = 1000 cm3 (ml)
1 m3 = 1000 L = 35.3 ft3 = 264 gal
1 gal = 3.785 L = 4 qt = 16 c = 128 oz
1 ft3 = cf = 28.32 L = 7.482 gal
1 bbl = 42 U.S. gal = 159 L = 5.6 ft3
1 cord = 128 ft3 = 3.62 m3
1 ac-ft = 43560 ft3 = 325,851 gal
1 km3 = 0.24 mi3 = 810,713 acre-ft
1 bu = 4 pck = 8 gal = 35.2 L = 2,150 in3
การแปลงหน่วยของความดัน (Pressure)
1MPa = 10bar = 9.87atm = 145psi
1atm = 1.0132 bar = 760 mmHg = 14.696 psi = 10.33 ton/m3
การแปลงหน่วยของอัตราการไหล (Flow Rates)
1mbd = 1 Mbbl/day = 15.34 Ggal/yr = 694.4 bbl/min = 11.57 bbl/sec = 485.9 gal/sec
1 ft3/s = 641 bbl/hr = 449 gal/min (gpm)
1 bbl oil/day approx. 50 metric ton oil/yr
1 gpm = 0.063 L/s = 0.00442 ac-ft/day
การแปลงหน่วยของกำลัง (Power Unit)
1 W = 1 J/s = 3.6 kJ/hour = 31.5 MJ/year
1 kW = 1.341 hp = 738ft-lb/s
1 hp = 745.7 W = 0.7068 Btu/s
1 TW = 1012 W = 31.5 EJ/year
1 ton-refrigeration = 12,000 Btu/hr = 200 Btu/min = 3.517 kW




จากตัวอย่างการแปลงหน่วยในข้างต้น เราจะสังเกตุได้ว่าหากเราลองนำค่าสัมประสิทธิ์มาลองประยุกต์ใช้เราก็จะได้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงหน่วยเพิ่มขึ้นมา และเราก็จะสามารถแปลงหน่วยได้ง่ายขึ้นนั่นเองครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก mitenergyclub.org

ตัวอย่างการออกแบบบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กแบบท้องเรียบ (REINFORCED CONCRETE STAIR DESIGN)


ตัวอย่างการออกแบบบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กแบบท้องเรียบ (Reinforced Concrete Stair Design) ซึ่งเป็นรูปแบบบันไดที่เราสามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป เนื่องจากบันไดแบบท้องเรียบสามารถออกแบบและทำการก่อสร้างได้ง่าย ไม่มีกระบวนการซับซ้อนมากนัก จะมียุ่งยากก็เฉพาะขั้นตอนการกำหนดขนาดของลูกตั้งและลูกนอน โดยในตัวอย่างนี้จะเป็นบันไดคอนกรีตเสริมเหล็กแบบท้องเรียบที่วางพาดบนคานที่รองรับทั้งสองด้าน ในขั้นตอนการวิเคราะห์โครงสร้างของบันไดรูปแบบนี้จะทำการวิเคราะห์เหมือนกับคานช่วงเดียวอย่างง่ายนั่นเองดังตัวอย่างต่อไปนี้
จากแบบแปลนบันไดด้านล่าง บันไดมีความกว้าง 1.00 m. ความยาว (L) 2.74 m. ความสูง 1.45 m. และชานพักกว้าง 1.2 m. เราจะทำการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของบันไดตัวนี้โดยมีค่าพารามิเตอร์ที่จำเป็นต่อการออกแบบดังต่อไปนี้
  • น้ำหนักบรรทุกจร 300 kg/m2
  • กำลังอัดประลัยของคอนกรีต fc’ = 170 ksc.
  • หน่วยแรงอัดที่ยอมให้ fc = 0.375fc’ = 64 ksc.
  • หน่วยแรงดึงประลัยของเหล็กเสริมหลัก fy = 3000 ksc.
  • หน่วยแรงดึงที่ยอมให้ของเหล็กเสริมหลัก fs = 0.5fy = 1500 ksc.

จากแปลนของบันไดเราจะสามารถแบ่งขนาดของลูกตั้งและลูกนอนได้ดังนี้
  • ลูกตั้ง = 0.181 m.
  • ลูกนอน = 0.22 m.
ประมาณความหนาของบันไดจาก D = L/20 = 2.74/20 = 0.137 m. → 0.15 m.
ระยะคอนกรีตหุ้มเหล็ก = 2.50 cm.
  • ความหนาประสิมธิผล (d) = 15.00 – 2.50 = 12.50 cm.
คำนวณน้ำหนักบรรทุกจรและน้ำหนักบรรทุกคงที่ของบันได (w) จะได้
  • น้ำหนักบรรทุกคงที่ = (0.15 x 2400 x 1 x 1)+(4 x 0.5 x 0.22 x 0.181 x 4200 x 1) = 551 kg/m2
  • น้ำหนักกระเบื้องรวมปูนทรายปรับระดับ 5 cm. = 0.05 x 2400 x 1 x 1 = 120 kg/m2
  • น้ำหนักบรรทุกจร = 300 kg/m2
  • w = 551 + 120 + 300 = 971 kg/m2
คำนวณค่าโมเมนต์ดัด (คานช่วงเดียว) M = wL2/8 = 911 kg.m.
ทำการคำนวณค่า n, k, j และ R จะได้
  • n = 10
  • k = 0.30
  • j = 0.90
  • R = 8.64 ksc.
ตรวจสอบความหนาประสิทธิผล
  • d = √(M/Rb) = √ ((911 x 100)/(8.64 x 100)) = 10.27 cm. < 12.50 cm. O.K.
คำนวณปริมาณเหล็กเสริมหลัก1
  • As = M/(fs.j.d) = (911 x 100)/(1500 x 0.90 x 12.50) = 5.40 cm2
  • เลือกใช้ DB 12 mm. @ 25 cm. จะได้ As = 5.85 cm2 > 5.40 cm2 O.K.
คำนวณปริมาณเหล็กเสริมกันร้าว2
  • Ast = 0.0025bD = 0.0025 x 100 x 15 = 3.75 cm2
  • เลือกใช้ RB 9 mm. @ 20 cm. จะได้ As = 3.82 cm2 > 3.75 cm2 O.K.
หมายเหตุ
  1. เหล็กเสริมตามยาว
  2. เหล็กเสริมตามขวาง
  3. จมูกบันไดใช้ RB 9 mm. เสริมทุกมุม
ทีมา :

ลวดสาม ลวดสี่ – ลวดผูกเหล็ก (BLACK IRON WIRE) ภาษาทางช่าง


ก่อนอื่นต้องสวัสดีพี่ๆ น้องๆ ชาววิศวกรรมโยธาทุกคน ต้องขอเกริ่นนำครับ ตอนสมัยที่ผู้เขียนจบการศึกษาใหม่ๆ ครับ ได้ควบคุมงานโครงการก่อสร้างหลังหนึ่ง ทางวิศวกรโครงการก็มอบหมายให้งานก่อสร้างให้โชว์ผลงานทั้งหลังว่างั้นเหอะ!! เริ่มตั้งแต่งานเสาเข็มถึงโครงหลังคาครับ รับผิดชอบสั่งงาน วางผังงานสำรวจ ทำ Shop Drawing ทำราคา สั่งวัสดุ ควบคุมงานเองทั้งหมดครับ สมัยเรียนก็เป็นที่ทราบดีครับ “ทฤษฏีปึกปฎิบัติแป๊ก” ครับ ต้องขอบอกก่อนครับ “ง.งู มาก่อน ฉ.ฉิ่ง เสมอ” เรื่องมีอยู่ว่า ก่อนผูกเหล็กเส้นต่างๆ ของงานโครงสร้างครับ ปกติผู้ควบคุมงานเอง หรือผู้รับเหมา ต้องตัดลวดผูกเหล็กเพื่อไปมัดเหล็กโครงสร้างให้ประสานกัน ทางผู้เขียนก็ให้ช่างไปตัดมา ลวดผูกเหล็กหนึ่งหมัดกลมๆ นั้นแหละครับ ไปผ่ามาเป็นสี่ส่วนเท่าๆ กันครับ ก็ได้มาให้คนงานผูกเหล็กทำงาน แต่ก็ไม่เป็นผลครับ เนื่องจากผ่าลวดมาสี่ส่วนนั้น ก็มัดผูกเหล็กมาไม่รัดรอบกับเหล็กเส้น เนื่องจากเป็นเหล็กเส้นค่อนข้างใหญ่ครับ ข้ออ้อย DB 25 มม. และ DB 28 มม.




      ช่างที่ไปตัดมาบอกว่า “ทำไมนายช่างไม่ตัดลวดสามครับ…” คำถามนี้ นายช่าง (ผู้เขียนครับ) ยังงงเลย ?? ส่วนนายช่างคนอื่นท่านคงทราบ แหละครับ ถ้าเคยผ่านประสบการณ์มา ผู้เขียนก็ถามว่า ลวดสามคืออะไรครับช่าง … ช่างก็บอกว่า “ลวดสาม ก็ตัดแบ่งมาสามส่วนเท่าๆ กัน ลวดสี่ก็ตัดแบ่งมาสี่ส่วนเท่าๆ กันครับ !! นายช่าง” บัดนั้นมาผมต้องยกย่องช่างที่มีประสบการณ์มาหลายสนามงานก่อสร้างครับ ที่คลายความโง่ให้ผม…ขอบคุณมากๆ ครับ “ช่างเปี๊ยก”



บทความโดย ::
นายเกียรติศักดิ์ สุขยา E-mail: skiatisak@gmail.com
โทร.081-643 8356 เขียน 25. 07. 2553

ตุ๊กตา (ค้ำยัน) ภาษาทางช่างของ “ค้ำยันสำหรับรองรับคานคอนกรีต”


ก็เป็นธรรมเนียมครับก่อนอื่น ต้องสวัสดีพี่ๆ น้องๆ ชาววิศวกรรมโยธาทุกๆ คนครับ ก็เหมือนเดิมครับพบกัน เช่นเดิมครับอีกแล้วครับท่าน มีเรื่องมาเล่าให้ฟังครับ มีอยู่ว่า “เด็กๆ มักชอบเล่นตุ๊กตา ส่วน โครงการงานก่อสร้างทำไมต้องเอาตุ๊กตาของเด็กๆ มาเกี่ยวข้องด้วยล่ะครับ!!!” ชักจะงงๆ ส่วนท่านที่ทราบดีแล้วที่อยู่ในวงการก่อสร้าง ก็อย่ารำคาญเลยล่ะครับ ส่วนนักศึกษาวิศวกรรมโยธาที่จะเป็นนายช่างต่อไปก็คงให้เรียนรู้ต่อไปครับ

คำว่า “ตุ๊กตา” ภาษาทางช่าง หมายถึง ค้ำยันสำหรับรองรับคานคอนกรีตนั่นเองครับ ส่วนการเรียกชื่อตุ๊กตานี้ผมคงเกิดไม่ทันหรอก และไม่ทราบแน่ชัดครับว่า “นายช่างคนไทยสมัยโบราณบัญญัติไว้” ครับ ต้องขอยกย่อง นายช่างคนไทยสมัยโบราณ ต่อไปมาเข้าเรื่องเลยครับ การที่ผู้รับเหมาหรือผู้ควบคุมที่จะทำการติดตั้งหรือหล่อคานคอนกรีตจำเป็นต้องทำตุ๊กตา ส่วนประกอบก็มีไม่กี่อย่างหรอกครับ ไม้กลมๆ หรือไม้หน้าสาม (1½” x 3″ ) นั่นแหละครับ ตะปู ฆ้อน เลื่อย เป็นต้น

พอทำตุ๊กตาแล้วก็จะมีไม้แบบท้องคานและผูกเหล็กคานในลำดับต่อ พอเสร็จแล้วก็ประกอบแบบข้างเพื่อเทคอนกรีตคานต่อไปดัง รูปที่ 1 ครับในส่วนระยะเวลาในการรื้อถอดตุ๊กตา ก็ตามข้อกำหนดของ (วสท.) ระยะเวลาก็ประมาณ 14 วันครับ ปัจจุบันความทันสมัยและการพัฒนาของวงการคอนกรีตกำลังสูง สามารถเพิ่มและเร่งกำลังของคอนกรีตให้ทันต่อการใช้งานได้ครับ สามารถเร่งถอดตุ๊กตาในระยะเวลา 
อันสั้นได้ครับ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ที่ผู้รับเหมาหรือผู้ควบคุมงานใช้คอนกรีต กำลังอัดที่เท่าใดและประสานงานกับทางเจ้าหน้าทดสอบคอนกรีตเสมอว่า คานคอนกรีตที่จะถอดตุ๊กตาต้องมีผลการทดสอบ ของคอนกรีตก่อนครับ เพื่อความปลอดภัยของโครงสร้างที่จะทำการรื้อตุ๊กตาต่อไปครับ

บทความโดย ::
นายเกียรติศักดิ์ สุขยา E-mail: skiatisak@gmail.com
เรียบเรียง : 21. 11. 2553