วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติของอาชีพวิศวกร : THE HISTORY OF PROFESSIONAL ENGINEERS


นับตั้งแต่ที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก ความเป็นนักประดิษฐ์ของเราก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสมองที่ซับซ้อน การสังเกตุ และข้อสงสัยต่างๆ ทำให้เรารู้จักประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อการดำรงชีพ ซึ่งนั่นก็คือจุดเริ่มต้นขององค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมโดยแท้จริง หรือกล่าวได้ว่าวิศวกรกลุ่มแรกของโลกก็ก่อเกิดมาจากจุดนี้ โดยได้มีการพัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ เช่น เครื่องมือในการล่า ที่อยู่อาศัย ศาสนสถาน ฯลฯ ซึ่งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้มารุ่นต่อรุ่น และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อย่างมากมายจนหลายๆ ผลงานจากอดีตก็ได้กลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างที่เราได้พบเห็นกันในปัจจุบัน
อาชีพวิศวกรในสมัยเริ่มแรกนั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการทหาร กล่าวคือ เป็นงานในลักษณะของการสร้างอาวุธส่งคราม เช่น เครื่องยิงก้อนหิน ปืนใหญ่ เครื่องกระทุ้งประตูเมือง การก่อสร้างกำแพง ป้อมยาม คูเมือง เหล่านี้เป็นต้น


 ดังนั้นวิศวกรรุ่นแรกคือ วิศวกรการทหาร (Military Engineer) วิศวกรพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทหารซึ่งจะต้องเข้าร่วมรบในสงคราม แต่หน้าที่พิเศษแตกต่างจากทหารอื่นๆ 


คือต้องทำการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาถึงสมัยที่อำนาจของเจ้าผู้ครองนครและอาณาจักรต่างๆ ถึงจุดเสื่อม การพาณิชยกรรมได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนการรบขยายอาณาเขต ประมาณ ปี ค.ศ. 1750 คือ ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงเกิดมีวิศวกรพลเรือน (Civil Engineer) ซึ่งทำงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรง เช่น การสร้างถนน ขุดคลอง เป็นต้น


 และวิศวกรเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบัน Institute of Civil Engineer (London)   ขึ้นในปี ค.ศ. 1828 ยิ่งวงการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเท่าไร ความจำเป็นที่จะต้องจำแนก


สาขาเฉพาะของวิศวกรยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อการใช้เครื่องจักร เครื่องกลมีมากขึ้น วิศวกรพลเรือนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลก็มากขึ้นไปด้วย วิศวกรพลเรือน จำนวนหนึ่งจึงแยกตนเองออกมาตั้งเป็นสาขาใหม่ คือ วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) วิศวกรเครื่องกลจะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกำเนิดพลัง (engine) เครื่องจักรแปรรูปวัสดุ และผลิตสินค้า โรงงานขนาดใหญ่และอุปกรณ์ขนย้ายวัสดุ (material handling equipment) และความหมายของ วิศวกรรมพลเรือนแต่เดิม (Civil Engineering) นั้นก็เปลี่ยนมาหมายความถึงวิศวกรรมโยธา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร ถนน คลอง ฯลฯ และยังคงใช้คำว่า Civil เหมือนเดิม


ในสมัยต่อมาเมื่อพลังงานไฟฟ้าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย วิศวกรเครื่องกลบางกลุ่มที่ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกำเนิดไฟฟ้าและระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าก็แยกสาขาออก เป็นวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) เพิ่มขึ้นมาอีกสาขาหนึ่ง 


จากสาขาหลักใหญ่ๆ 3 สาขาของวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาย่อยอื่นๆ ของวิศวกรรมศาสตร์ก็เจริญเติบโตขึ้นมา


อีกมากมาย เช่น วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) วิศวกรรมเหมืองแร่และโลหะวิทยา (Mining and Metallurgical Engineering) วิศวกรรมการเดินอากาศ (Aeronautical Engineering) วิศวกรรมการเกษตร (Agricultural Engineering) วิศวกรรมเครื่องกลเรือ (Marine Engineering) วิศวกรรมอิเลคทรอนิค (Electronic Engineering) วิศวกรรมนิวเคลียร์ (Unclear Engineering) และยังมีสาขาอื่นๆ อีกมากมายในปัจจุบัน



ขอขอบพระคุณที่มาข้อมูลจาก :
                                                    http://www.pros-concrete.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น